เมื่อมีอันต้องระเห็จจากบ้านเกิดเมืองนอนไปตั้งถิ่นฐาน ณ ประเทศ
เนเธอร์แลนด์ อันเป็นบ้านเกิดของสามี เรื่องวุ่นวายปั่นป่วนชวนเฮฮาของ
สุวดีจึงถือกำเนิดขึ้น เริ่มจากการรวบรวมสมัครพรรคพวกคนไทยหัวอกเดียวกัน
ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน สร้างวีรกรรมจนเจ้าของประเทศหัวหมุน
ไปจนถึงเปิดศึกกับฝรั่งที่บังอาจมาดูถูกคนไทย แหม! ถึงจะอยู่เมืองนอก
เมืองนามานาน แต่เลือดไทยก็ยังเข้มข้นนะจ๊ะ
คำนำผู้เขียน
ปกติแล้วเป็นคนไม่ชอบเอาเรื่องที่คิดว่าผ่านไปแล้วมา recall ให้เสียความรู้สึก เพราะเป็นคนไม่ชอบคิดถึงอดีตที่เมื่อคิดแล้วจะเกิดความขัดแย้ง ลังเล ต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ไม่ชอบความซ้ำซาก ไม่ต้องดูอะไรมาก แค่ละครโทรทัศน์ที่เขานำมาสร้างซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยังไม่เปิดดู นิยายที่อ่านแล้วยังไม่ค่อยหยิบมาอ่านอีก พวกตำราเรียน อ่านครั้งเดียวแล้วก็ไปสอบ สอบเสร็จก็คืนอาจารย์ไป เดี๋ยวท่านจะไม่มีสอนลูกศิษย์รุ่นหลัง ที่อ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่เคยเบื่อก็มีอยู่สามอย่าง เทพปกรณัม วรรณคดี และพจนานุกรมทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ อย่างหลังนี่ยิ่งอ่านยิ่งเพลิน เพราะได้เรียนรู้ความหมายของคำต่างๆที่คิดไม่ถึงว่าจะแปลได้เช่นนั้น เช่นคำว่า พระจันทร์ครึ่งซีก หรือไม่ก็คำว่า พระเจ้าลอยถาด ถ้าไม่เปิดพจนานุกรมอ่าน คุณจะไม่ทราบว่าความหมายที่แท้จริงคืออะไร
ฮัลโหล! เมียฝรั่ง ก็เช่นกัน ไม่เคยคิดจะหยิบขึ้นมาดู เรื่องนี้เขียนไว้และลงพิมพ์ในขวัญเรือนตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ตอนโน้นกลับมาเมืองไทย มาแล้วต้องบึ่งไปหาคุณพนิดา ชอบวณิชชา บรรณาธิการอำนวยการขวัญเรือนก่อนใคร เพราะรักกันมาก (ขนาดเธอไม่เขียนจดหมายไปหา ยังอุตส่าห์ไปเข้าฝันแบบเตือนให้คิดถึงเธอได้ก็แล้วกัน) เธอพูดขณะที่เธอขับรถพาผู้เขียนไปขุน เอ๊ย! ไปเลี้ยงอาหารว่า…เขียนประสบการณ์ในฮอลแลนด์แบบตลกๆสไตล์ของโจ๊กเอาแบบเรื่องยาวหน่อยมาให้พี่เรื่องหนึ่งคราวนี้พี่จะทำให้โจ๊กดัง…
ด้วยความรักและเคารพที่ผู้เขียนมีต่อคุณพนิดา ฮัลโหล! เมียฝรั่ง จึงถูกถ่ายทอดส่งมาให้ทางขวัญเรือนได้ ตีพิมพ์ เป็นประสบการณ์ในระยะที่ไปอยู่ฮอลแลนด์ ครั้งที่ยังสมรสกับชายชาวฮอลันดา บิดาของเจ้าพลายเนย… ชีวิตช่วงนั้นให้นิยามได้ว่า เป็น ‘ช่วงฮา’ ของชีวิตช่วงหนึ่ง
แล้วก็เป็นดั่งที่คุณพนิดาคาดการณ์ไว้ เรื่องนี้ได้รับการต้อนรับเกรียวกราวจากแฟนขวัญเรือน ชนิดบางวัน ผู้เขียนได้รับจดหมายจากเมืองไทยถึง ๓๐ ฉบับ คนอ่านบางคนน่ารักเขียนไปว่า…ไม่ตอบก็ไม่เป็นไร อยากบอกให้คุณโจ๊กทราบเท่านั้นว่ารักคุณโจ๊กมาก อ่านฮัลโหลฯแล้วหัวเราะจนสามีทนไม่ได้ ต้องมาแย่งไปอ่าน แล้วเขาก็หัวเราะตามด้วย…
นิยายเรื่องนี้จึงเป็นดั่งความตั้งใจของคุณพนิดาที่ว่า…คราวนี้พี่จะทำให้โจ๊กดัง… ตั้งแต่นั้นมาก็ได้เขียนแต่นิยายเรื่องยาว ถูกด่า ถูกว่า ถูกชม สุวดีรับไว้หมด นี่ถ้าไม่มีแรงสนับสนุนจากเธอ ในโลกแห่งจินตนาการของ ตัวอักษรนี้จะไม่มีนักเขียนที่ชื่อว่า ‘สุวดี’ แต่ไม่ได้เขียนเป็นอาชีพ เพราะงานประจำในช่วงนั้นคือเป็นอาจารย์สอนวิชาแคลคูลัส
มีหลายคนที่น่ารักแนะนำว่าให้ส่งงานไปที่อื่นบ้างจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้น ก็ได้ตอบไปว่า เขียนเพราะต้องการเขียน ไม่ได้เขียนเพราะเชิงการค้า ซึ่งได้รับกระแสคลื่นกระทบกลับมาว่า ผู้เขียนเป็นคนจองหอง ซึ่งอันนี้ก็ไม่ได้โกรธ ก็แล้วแต่จะนิยามกันไป ไม่ว่ากันอยู่แล้ว…แต่ไม่ปล่อยให้เขาว่าเราฝ่ายเดียว ตอบเขากลับ (ในใจ) แล้วแรงด้วย
แต่แล้วบนถนนแห่งหนังสือของเมืองไทยก็ยังมีผู้ที่มีรอยยิ้มอันบ่งบอกถึงเมตตาจิตมากระทบหัวใจของผู้เขียน เพราะมิสปุ๊…วราภรณ์ พจนฐากรณ์ คุณเพื่อนสาวเอ่ยถึงเธอผู้นั้นให้ผู้เขียนฟัง เพียงแค่พบกันครั้งนั้น เธอสามารถสัมผัสถึงเนื้อแท้ในหัวใจของผู้เขียนจนสามารถทำให้ ผู้เขียนไปค้นต้นฉบับนิยายที่เคยเขียนไว้ มาให้เธอเป็นผู้รวมเล่มได้ บุคคลที่สามารถชนะใจผู้เขียนนอกจากคุณพนิดา ชอบวณิชชา บรรณาธิการของขวัญเรือนแล้วก็คือ คุณกัณหา แก้วไทย เจ้าของสำนักพิมพ์แก้วกานต์ บุคคลที่สามารถสร้างความอัศจรรย์ใจให้แก่เพื่อนๆของผู้เขียน แล้วตั้งสมมติฐานให้ซ.ต.พ.กันเองว่า… สงสัยพี่กัณหามีตะพายพิเศษ เลยจูงนังกระทิงได้อยู่…(เพื่อนนะเพื่อน)
หยิบเอาต้นฉบับมาเปิดตรวจทานอีกครั้ง น้ำตาซึม เพราะคิดถึงเพื่อนๆที่เคยร่วมสนุกกันมา เดี๋ยวนี้แยกย้ายไปอยู่กันไกล ไม่ได้เจอกัน อ่านแล้วก็ยังอดหัวเราะไปกับชีวิตที่เคยอยู่ร่วมกับพ่อเจ้าพลายเนยไม่ได้ นี่ถ้าไม่มีเขา เราก็คงไม่ได้เป็นแม่ของลูกที่ชอบวิ่งเข้ามากอด จุ๊บแก้มเรา แล้วบอกเป็นภาษาไทยว่า “เนยรักแม่”
เลยอยากจะถ่ายทอดความรู้สึกส่วนที่ยังมีเหลือต่อพ่อของลูกว่า
Wim…Eventhough I could not go on being your wife, neither nor your good enemy. But be sure…without you, I could never be your beloved son’s mother… Thank you for this valuable gift. I shall do love and take care him from the depth of my heart…till my last breathe. I promise.
(Suwadee)
Ede, The Netherlands
|